เพาโลว์เนีย : ไม้เศรษฐกิจปลูกแล้วรวยจริงหรือ?

บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำนำ

ภายหลังการประกาศปิดป่าทั่วประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ. 2532 ทำให้ไม้เศรษฐกิจของไทยได้มาจากป่าปลูกหรือสวนป่า และจากการนำเข้าเท่านั้น หากยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า ก็อาจจะมองวิกฤตการปิดป่าให้เป็นโอกาสในการพัฒนาสวนป่าเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ตลอดช่วงเวลา ปีที่ผ่านมา จากปี พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2546 สวนป่าเศรษฐกิจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปจริงหรือ หรือว่าเป็นเพียงการ กินสมบัติเก่า ซึ่งปลูกสร้างไว้ก่อนการปิดป่าเท่านั้น เพราะกระแสป่าอนุรักษ์ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดมา ในขณะที่ผู้ปลูกป่าอนุรักษ์ได้รับการยกย่องสรรเสริญ แต่ผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจกลับโดนข้อหา ผู้ตัดไม้ทำลายป่าจนองค์กรเอกชนได้ออกมาเรียกร้องให้ชะลอการปลูกป่าเศรษฐกิจ (เดลินิวส์ธันวาคม 2544) โดยมิได้ตระหนักถึงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงชี้แนะให้ปลูกป่าสามอย่าง (คือป่าไม้ใช้สอย ป่าฟืน และป่ากินลูก ผล) เพื่อประโยชน์สี่อย่าง ซึ่งประโยชน์อย่างที่สี่ก็คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศนั่นเอง จะเห็นได้ว่าสวนป่าเศรษฐกิจสามารถทำหน้าที่สวนป่าอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กันได้ แต่สวนป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยไม่สามารถมีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจโดยตรงได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังได้รณรงค์ให้ ใช้วัสดุอื่นแทนไม้ เพื่อจะอนุรักษ์ป่า เพราะมองว่าการตัดไม้คือการทำลายป่า ทั้งๆ ที่น่าจะต้องรณรงค์ให้ ใช้ไม้แทนวัสดุอื่นเพราะไม้เป็นทรัพยากรที่ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ในขณะที่เหล็ก หิน ปูน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วก็หมดไป ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ รวมทั้ง นโยบายการป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528 ที่ได้กำหนดว่าประเทศไทยจะต้องมีเนื้อที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และร้อยละ 25 เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเลข ให้เป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 แต่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 94 ล้านไร่ (ร้อยละ 29.40) ในปี พ.ศ. 2528 ลงเหลือเพียง 81 ล้านไร่(ร้อยละ 25.28) ในปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นว่าการตัดไม้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่การทำลายป่า พื้นที่ป่าที่ลดน้อยลงทุกวันเป็นเพราะสาเหตุอื่น แต่ผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจโดยเน้นผลตอบแทนทางตรงเป็นสำคัญก็ยังต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่เสมอมา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ว่าปลูกไม้เศรษฐกิจแล้วคุ้มทุนและรวยจริงหรือ

การปลูกไม้เศรษฐกิจ

ป่าไม้แบ่งออกตามการเกิดได้สองอย่างคือ ป่าธรรมชาติ และป่าปลูกหรือสวนป่า วัตถุประสงค์หลักของการปลูกสร้างสวนป่ามีสามประการคือ เพื่อการอนุรักษ์ (สวนป่าอนุรักษ์) เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ สวนป่านันทนาการ) และเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (สวนป่าเศรษฐกิจ) สวนป่าทั้งสามประเภทนี้มีบทบาทความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะประเภทสุดท้ายนอกจากจะสนองวัตถุประสงค์หลักแล้ว ยังสนองวัตถุประสงค์รองในด้านการอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งความเป็นพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไปดังกล่าวแล้วอีกด้วย

ในทางเศรษฐกิจ สวนป่าเศรษฐกิจมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงพอสมควร ในปี พ.ศ. 2543 อุตสาหกรรมชิ้นไม้สับ เยื่อและกระดาษนำเงินตราเข้าประเทศได้สูงถึง 27,833 ล้านบาท ควบคู่กับการก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานประมาณ แสนคน โดยไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวคือไม้ยูคาลิปตัส ในขณะที่ปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยส่งออกเครื่องเรือนไม้ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ยางพารา มีมูลค่าสูงถึง 42,631 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไม้ก็สร้างแรงงานได้ราว แสนคน ทั้งนี้ยังไม่รวมไม้เพื่อการพลังงานซึ่งมีความต้องการ ( พ .ศ. 2540) ราว 20 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการไม้เพื่อการก่อสร้างซึ่งนำเข้ามาในปี พ.ศ. 2543 มีมูลค่าประมาณ 16,020 ล้านบาท อันจะเห็นได้ว่าสวนป่าเศรษฐกิจเป็นธุรกิจระดับแสนล้านบาททีเดียว

ในการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจนั้น คำถามที่มักจะได้ยินอยู่เป็นประจำก็คือ ควรจะปลูกไม้อะไรดีหรือไม่ก็ถามว่า ไม้ ปลูกเป็นสวนป่าเศรษฐกิจได้หรือไม่แต่ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาวนวัฒนวิทยานั้น ผู้ตอบควรจะถามกลับไปอย่างน้อยสองข้อคือ (1) จะปลูกทำไม ?และ (2) จะปลูกที่ไหน? คำถามข้อแรก แม้จะรู้ว่าปลูกเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทว่าไม้แต่ละชนิดสนองความต้องการด้านการใช้ประโยชน์ต่างกัน ไม้สักเหมาะสำหรับใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ในขณะที่เครื่องเรือนจากไม้ยางพารามีคุณภาพและราคาด้อยกว่าไม้สัก ไม้สนเขาให้เยื่อกระดาษเส้นใยยาว ส่วนไม้ยูคาลิปตัสเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นไม้สับและอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษเส้นใยสั้น นอกจากนี้ คำถามที่ว่าจะปลูกทำไมยังอาจจะมองไปถึงความต้องการผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของผู้ปลูกว่าต้องการในระยะสั้นหรือระยะยาว กล่าวคือ จะปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อใช้เงินในวันนี้ หรือเพื่อสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลานได้เงินในวันหน้า ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงไปถึงคำแนะนำในการเลือกชนิดไม้ปลูกว่าจะปลูกไม้โตช้าหรือไม้โตเร็ว

คำว่า ไม้โตเร็ว ในหลักสากลนั้นจะต้องมีความเพิ่มพูนรายปีในรูปของเส้นรอบวงที่ระดับอกไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร แต่ไม้ในเมืองไทยส่วนใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก เพราะปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมกับการเจริญเติบโต จึงได้กำหนดว่า ไม้โตเร็วจะต้องวัดเส้นรอบวงที่ระดับอกได้ 100 เซนติเมตร เมื่อมีอายุไม่เกิน 15 ปี หรือมีความเพิ่มพูนรายปีในรูปของเส้นรอบวงที่ระดับอกไม่น้อยกว่า 6.67 เซนติเมตร หรือมีความเพิ่มพูนในรูปของเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอกไม่ต่ำกว่าปีละ 2.12 เซนติเมตร จากคำจำกัดความที่ว่านี้ ไม้สัก ไม้สนเขา ไม้ยูคาลิปตัสและไม้เพาโลว์เนีย ต่างก็ถือว่าเป็นไม้โตเร็ว เพียงแต่ไม้สักมีอายุรอบหมุนเวียนในการตัดฟันยาวกว่าไม้สามชนิดหลัง ดังนั้น แทนที่จะเรียกว่าไม้โตช้าหรือไม้โตเร็ว น่าจะใช้คำว่าไม้ที่มีอายุการตัดฟันสั้นและไม้ที่มีอายุการตัดฟันยาวจะถูกต้องและเหมาะสมกว่า ซึ่งโดยนัยดังกล่าวทำให้สามารถแบ่งไม้ในสวนป่าเศรษฐกิจออกได้ ประเภทคือ

1.ไม้โตเร็วที่มีอายุการตัดฟันสั้น มีเส้นรอบวงที่ระดับอกวัดได้ 100 เซนติเมตร เมื่ออายุไม่เกิน15 ปี และมีอายุการตัดฟันไม่เกิน 10 ปี เช่นไม้ยูคาลิปตัส ไม้เพาโลว์เนีย

2.ไม้ที่มีอายุการตัดฟันปานกลาง มีอายุการตัดฟัน 10-30 ปี เช่น ไม้ยางพารา ไม้สนเขา

3.ไม้ที่มีอายุการตัดฟันยาว มีอายุการตัดฟันตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่

เมื่อมีชนิดไม้เศรษฐกิจที่ต้องการปลูกอยู่ในใจแล้ว และถามว่าควรจะปลูกไม้ชนิดดังกล่าวที่ใดนั้น ก็จำเป็นจะต้องนำเอาปัจจัยต่างๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ตลาดที่จะรองรับไม้ ราคาไม้ สภาพแวดล้อมและ ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น ไม้สักจะต้องปลูกในที่ซึ่งความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ดินควรจะลึก สลายตัวมาจากภูเขาหินปูน มีการระบายน้ำดี ไม้ยูคาลิปตัสไม่ชอบดินที่มีฤทธิ์เป็นด่างมากๆ หากปลูกเพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมชิ้นไม้สับซึ่งรับซื้อที่หน้าโรงงานตันละประมาณ 1,000บาท สวนป่าก็ควรจะอยู่ห่างจากโรงงานในรัศมีไม่เกิน กิโลเมตร การปลูกไผ่เพื่อขายหน่อจะต้องคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ ส่วนเพาโลว์เนีย ซึ่งเป็นไม้เมืองหนาวที่มีน้ำหนักเบามากก็ควรจะปลูกในที่ซึ่งอากาศค่อนข้างหนาวเย็น มีตลาดรองรับที่แน่นอน ดินต้องไม่มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งต้องมีแรงงานเพียงพอที่จะจัดการสวนป่าอย่างประณีตตลอดอายุรอบหมุนเวียนในการตัดฟันได้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไม้เพาโลว์เนีย

Paulownia taiwaniana    และ Paulownia tomentosa   โดยทั้งหมดเป็นไม้พื้นเมืองของจีน กระจายอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในที่ราบและบนภูเขาซึ่งภาพ สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตร Paulownia fortunei มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติลงมาถึงเวียดนามและลาว ในขณะที่ Paulownia tomentosa ขึ้นได้ดีในเกาหลีและญี่ปุ่นด้วย ส่วน Paulownia taiwaniana พบเฉพาะในเกาะไต้หวันเท่านั้น แต่เพาโลว์เนียที่มีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากมีเพียง 4 ชนิด คือ Paulownia elongata, Paulownia fortunei, Paulownia taiwaniana และ Paulownia tomentosa

ชื่อในภาษาละ ตินตั้งขึ้นโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวสวิส ชื่อ ซึ่งได้บันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้ใน Japanese Flora เมื่อปี ค.ศ. 1781 โดยจัดอยู่ในวงศ์ Bignoniaceae ต่อมาในปี ค.ศ.1835 Zuccarini และSiebold นักวิจัยชาวดัทช์ได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและจัดเพาโลว์ เนียเข้าไว้ในวงศ์ Scrophulariaceaeดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

                                                                         

                รูปการแตกหน่อของไม้เพาว์โลเนีย                                                                                             การกระจายของไม้เพาโลว์เนียในประเทศจีน

 

ชาวจีนรู้จักไม้ชนิดนี้มานานกว่าสองพันปี แล้วจากบันทึกในหนังสือชื่อ “Erh-ya” ซึ่งเป็นสารานุกรมทางธรรมชาติวิทยาและวัฒนธรรมฉบับแรกของจีน เขียนขึ้นเมื่อประมาณสามร้อยปีก่อนคริสตศักราช ได้กล่าวถึงพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีประโยชน์ไว้มาก โดยในจำนวนนั้นได้กล่าวถึงไม้เพาโลว์เนียไว้ว่า “Yung T'ung-ma” (Wood of Glorious Paulownia )ไว้ด้วย เมื่อ King Yui สิ้นพระชนม์เมื่อประมาณ 2,600ปี มาแล้วก็ได้ใช้ไม้เพาโลว์เนียหน า9 เซนติเมตร (3 cuen) ทำโลงศพและฝังไว้บนยอดเขา จากคุณสมบัติที่เป็นไม้โตเร็ว มีความหนาแน่นต่ำ น้ำหนักเบา และมีดอกสีม่วงสวยงามมาก ชาวจีนจึงมักจะเรียกไม้เพาโลว์เนียว่า “Tz'u T'ung” (Purple Paulownia )หรือ “Pao T'ung” (Foam Paulownia ) ตามประเพณีจีนในสมัยโบราณ เมื่อคลอดบุตรเป็นผู้หญิง พ่อแม่ก็จะปลูกต้นไม้เพาโลว์เนีย ไว้ให้หนึ่งต้น ครั้นลูกโตเป็นสาวและเข้าพิธีมงคลสมรส ก็จะโค่นเพาโลว์เนีย ต้นนั้นเพื่อนำเนื้อไม้มาทำตู้เสื้อผ้าซึ่งถือว่าเป็นสินเดิมจากฝ่ายเจ้าสาวที่สำคัญและมีค่ามาก หรือแม้แต่รองเท้าแตะชั้นดีของผู้หญิงญี่ปุ่นก็ทำมาจากไม้เพาโลว์เนียเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยด้านการปรับปรุงบำรุงพันธุ์ไม้เพาโลว์เนีย เพิ่งได้รับความสนใจจากสถาบันวิจัยป่าไม้ของจีนเมื่อปี พ.ศ. 2516 รวมทั้งการศึกษาวิจัยด้านการจำแนกพันธุ์ การปรับปรุงบำรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ การปลูก การจัดการสวนป่า และการใช้ประโยชน์ ก็เพิ่งได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2526 โดยความร่วมมือระหว่าง International Development Research Centre of Canada (IDRC) และ China Academy of Forestry

คุณลักษณะเด่นประจำตัวไม้เพาโลว์เนีย คือโตเร็วมากและมีน้ำหนักเบามาก โดยเฉพาะ Paulownia elongata และ Paulownia fortunei ถือว่าเป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็วที่สุดในบรรดาไม้สกุลเพาโลว์เนียด้วยกัน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น แชมเปียนของไม้โตเร็วและมีคำกล่าวในหมู่เกษตรกรชาวจีนว่าไม้เพาโลว์เนีย อายุ 1 ปี มองดูคล้ายไม้ถ่อ พออายุ 3 ปีมีรูปร่างเหมือนร่ม และสามารถตัดมาเลื่อยแปรรูปเป็นไม้กระดานได้เมื่ออายุ 5 ปี นอกจากจะโตเร็วและเบาแล้ว เนื้อไม้สีขาวของเพาโลว์เนีย ยังมีลายสวยงาม ไม่หด ยืดหรือแตกหักบิดงอ ไสกบตบแต่งง่าย มีเงางาม แห้งเร็ว รวมทั้งมีคุณสมบัติด้านการป้องกันเสียงสะท้อน และเป็นฉนวนกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหลได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มีคนสนใจปลูกไม้เพาโลว์เนียเป็นสวนป่าเศรษฐกิจกันมาก แต่จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับข้อมูลด้านการตลาดและราคาแล้ว ความรู้ด้านนิเวศวิทยาก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยเช่นกัน

ความต้องการด้านนิเวศวิทยาของไม้เพาโลว์เนีย

โดยหลักการแล้วอัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิดย่อมแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้นั้นๆ ขึ้นอยู่ อันได้แก่ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน ไฟป่า และปัจจัยทางชีวภาพซึ่งประกอบด้วยมนุษย์ สัตว์ และพืช ปัจจัยเหล่านี้ต่างก็มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไม้สักที่ปลูกบนดอยอินทนนท์จะเจริญเติบโตช้ามาก เพราะอุณหภูมิต่ำอันเนื่องมาจากความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเป็นปัจจัยทางตรงที่จำกัดการเจริญเติบโตของไม้สัก ความแห้งแล้งในทุ่งกุลาร้องไห้อาจจะไม่ถึงกับทำให้ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้ตาย แต่ตายเพราะไฟป่า ความแห้งแล้งจึงเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ก่อให้เกิดไฟป่าซึ่งทำให้ต้นยูคาลิปตัสตาย โดยมีไฟป่าทำหน้าที่เป็นปัจจัยทางตรง ความสำเร็จของการปลูกป่าเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการเลือกชนิดไม้ปลูกให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมของพื้นที่ปลูกมากกว่าการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เข้ากับชนิดไม้ที่เลือกมาปลูก

ในกรณีของไม้เพาโลว์เนียก็เช่นกัน ภายใต้สภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป Paulownia fortunei อายุ 10 ปี จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกประมาณ 30-40 เซนติเมตร (ความเพิ่มพูนปีละ 3-4 เซนติเมตร) แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมไม้อายุ 18 ปี จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกถึง 100 เซนติเมตร ( ความเพิ่มพูนปีละ 5-6 เซนติเมตร) หรือถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมมากและได้รับการจัดการอย่างดีอาจจะให้ความเพิ่มพูนในรูปของเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอกสูงถึง 8-9 เซนติเมตรต่อปีก็ได้ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมค่าความเพิ่มพูนรายปีดังกล่าวจะมีไม่ถึง 1 เซนติเมตร ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าไม้เพาโลว์เนียเจริญเติบโตช้ามาก และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าไม้เพาโลว์เนียชนิดนี้อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้เร็วมาก อย่างไรก็ตามปกติรูปแบบการเจริญเติบโตของต้นไม้ทุกชนิดจะโตเร็วในตอนแรก และจะชะงักการเจริญเติบโตเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ปรากฏว่า Paulownia fortunei ที่ Yan He Country ในมณฑล Kweichow ต้นหนึ่งอายุ 80 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก 202 เซนติเมตร สูง 49.5เมตร อีกต้นหนึ่งอายุ 90 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 224 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นต้นเพาโลว์เนียที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ รวมทั้งยังถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตรายปีค่อนข้างสูง ( ปีละ 2.53 เซนติเมตร และ 2.49 เซนติเมตร ตามลำดับ)เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีอายุเท่ากัน

ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าไม้เพาโลว์เนียที่มีบทบาทในเชิงการค้านั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด แต่การปลูกไม้เพาโลว์เนียเหล่านี้จะได้กำไรมากน้อยเพียงใดนอกจากจะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการตลาดแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ข้อมูลในตารางแสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านนิเวศวิทยาของไม้เพาโลว์เนีย ดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิต่ำสุดเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการกระจายพันธุ์ของไม้ เพาโลว์เนีย โดย Paulownia tomentosa ทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดีกว่า Paulownia elongata, Paulownia fortunei และ Paulownia taiwaniana ตามลำดับ หรืออาจจะพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าสภาพภูมิอากาศดอยอ่าง ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400–1,800 เมตร นั้นเหมาะสำหรับปลูกไม้Paulownia taiwaniana มากกว่า Paulownia tomentosa ในขณะที่ญี่ปุ่นมีความต้องการไม้ Paulownia elongata และ Paulownai tomentosa มากกว่า Paulownia taiwaniana

ตารางแสดงความต้องการด้านนิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ของไม้เพาโลว์เนียในประเทศจีน

คุณสมบัติ / สภาพแวดล้อม
P. elongata
P. fortunei
P. taiwaniana
P. tomentosa
ความหนาแน่นของเนื้อไม้, กรัม/ ลบซม.
0.209
0.258
0.262
0.236
การกระจายพันธุ์
เส้นรุ้ง
28-36
18-30
22-25
28-40
เส้นแวง
112-120
105-122
120-122
105-128
ความสูงจากระดับน้ำทะเล
1,200
1,100
1,000
1,500
อุณหภูมิ, (องศาเซลเซียส)
สูงสุด
40
40
39
40
ต่ำสุด
-15
-10
-2
-20
เฉลี่ย
12-17
15-23
20-23
11-17
น้ำฝน
มิลลิเมตรต่อปี
600-1,500
1,200-2,300
1,800-2,300
500-1,500
จำนวนเดือนที่แห้งแล้ง
3-9
2-3
2-3
3-9
pH ของดิน
5.0-8.0
4.5-7.5
4.5-7.0
5.0-8.5
เนื้อดิน
ร่วนปนทราย
ร่วนเหนียวปนทราย
ร่วนเหนียวปนทราย
ร่วนเหนียวปนทราย

การปลูกและการจัดการสวนป่าเพาโลว์เนีย

การที่จะตัดสินใจว่าควรจะปลูกไม้เพาโลว์เนีย เป็นสวนป่าเศรษฐกิจหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาปัจจัยด้านการตลาดเป็นอันดับแรก กล่าวคือจะต้องมั่นใจว่าเมื่อปลูกแล้วจะขายได้ และต้องขายได้ราคาที่คุ้มค่ากับการลงทุนด้วย แม้เพาโลว์เนียจะเป็นไม้โตเร็ว แต่กว่าจะตัดจำหน่ายได้ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 ปี ซึ่งช้ากว่าอายุการเก็บเกี่ยวพืชไร่มาก ระดับความต้องการและราคาไม้ในวันที่ปลูกอาจจะแตกต่างไปจากเมื่อถึงอายุการตัดฟันก็ได้ เมื่อมีความมั่นใจด้านการตลาดและตัดสินใจว่าจะปลูกแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าควรจะปลูกไม้เพาโลว์เนียชนิดใด เพราะเพาโลว์เนียที่มีบทบาทในเชิงพาณิชย์นั้นสนองความต้องการของตลาดและต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน Paulownia fortunei และ Paulownia มีลำต้นสวย ตรง เปลา เหมาะสำหรับปลูกเพื่อเอาเนื้อไม้ ขายเป็นไม้แปรรูป Paulownia kawakamii มีลำต้นเตี้ย ช่อดอกใหญ่ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ถ้าปลูกเพื่อต้องการกลิ่นหอมหรือ สะกัดน้ำหอมจากดอก Paulownia tomentosa และ Paulownai kawakamii น่าจะเหมาะสมกว่าไม้เพาโลว์เนียชนิดอื่นๆ ในขณะที่ Paulownia taiwaniana มีคุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าวอยู่ในระดับกลางๆ

ความรู้เกี่ยวกับความต้องการด้านนิเวศวิทยาของไม้เพาโลว์เนียทำให้ผู้ปลูกสามารถเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมได้ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด 2 ประการซึ่งผู้ปลูกไม้เพาโลว์เนียจะต้องคำนึงถึง ได้แก่

1. ดิน เพาโลว์เนีย ต้องการดินลึก มีความร่วนซุย ความอุดมสมบูรณ์สูง และความชุ่มชื้นสูง แต่ต้องระบายน้ำได้ดี ระดับน้ำใต้ดินในหน้าฝนไม่ควรสูงเกินกว่า 1.5 เมตร เพาโลว์เนียจะตายหากน้ำท่วมขังติดต่อกัน 2-3 วัน รวมทั้งไม่ชอบดินเค็ม ดินที่เป็นกรดหรือด่างจัดเกินไป ดินที่ขาดความชุ่มชื้น และดินตื้น จึงไม่ควรปลูกไม้เพาโลว์เนียบนเขา เพราะบนเนินเขาดินมักจะตื้นและมีความชุ่มชื้นต่ำทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้ากว่าบนที่ราบหรือเชิงเขามาก จากการศึกษาพบว่าเพาโลว์เนียเป็นไม้ที่มีเรือนรากลึก รากจะดิ่งลึกลงไปราว 80 เซนติเมตร แล้วจึงแผ่กว้างออกด้านข้าง ร้อยละ 90 ของรากที่หาอาหารอยู่ในระดับความลึก 20-90 เซนติเมตร จากผิวหน้าดิน Paulownai taiwaniana เจริญเติบโตดีบนดินที่สลายตัวมาจากภูเขาหินปูน ใกล้ตัวอาคาร ในบริเวณหมู่บ้านหรือชุมชน ริมถนน และริมคลอง โดยมีความเพิ่มพูนด้านเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกประมาณปีละ 3.5 เซนติเมตร หรือวัดรอบลำต้นได้ราว 110 เซนติเมตรเมื่ออายุ 10 ปี

2. แสงสว่าง เพาโลว์เนียเป็นไม้ที่ต้องการแสงสว่างเต็มที่ ไม่ชอบร่มเงาของไม้อื่น จะเจริญเติบโตช้าและตายไปในที่สุดหากขาดแสงสว่างโดยตรง การปลูกควบกับไม้หรือพืชอื่นในรูปของสวนป่าผสมหรือในระบบวนเกษตร จะต้องเลือกไม้ที่ไม่ก่อให้เกิดร่มเงาแก่ไม้เพาโลว์เนีย เช่น การปลูกเพาโลว์เนียควบกับไม้ยูคาลิปตัสจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นไม้โตเร็ว การปลูกเป็นไม้ประธานในระบบวนเกษตรในประเทศจีนมักจะเริ่มด้วยระยะปลูก lang=TH>เมตร แล้วตัดสางขยายระยะให้เหลือ 5x20 เมตรเมื่ออายุ 5 ปี และ 5x40 เมตรเมื่ออายุ 8 ี ก่อนที่จะทำการตัดฟันครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ10-12 ปี

สำหรับการขยายพันธุ์นั้น ไม้เพาโลว์เนียสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยการอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ซึ่งพอจะแยกออกเป็นวิธีต่างๆ ได้ดังนี้

1. การเพาะเมล็ด เมล็ดเพาโลว์เนียมีขนาดเล็กและเบามาก จึงสามารถปลิวไปตามลมได้ถึงครึ่งกิโลเมตร เมล็ด 1 กิโลกรัมมีปริมาณถึง 4-6 ล้านเมล็ด โดยเมล็ด 1,000 เมล็ดนั้นมีน้ำหนักเพียง 0.17-0.25 กรัมเท่านั้น ในผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่ตั้งแต่หนึ่งร้อยจนถึงหลายพันเมล็ด การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศกระทำได้โดยการเพาะเมล็ดแล้วย้ายชำต้นกล้าเลี้ยงไว้จนอายุประมาณ 1 ปี ซึ่งสูงราว 2-3 เมตรแล้วจึงนำไปปลูก การขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและมีความต้านทานโรคสูง แต่ข้อเสียก็คือไม้เพาโลว์เนียผสมข้ามต้นกันได้ง่าย ทำให้ยากต่อการควบคุมสายพันธุ์ดีที่ผ่านการคัดเลือกทางพันธุกรรมมาแล้ว จึงมักไม่ค่อยนิยมใช้กัน เพราะไม่มั่นใจในแง่ของพันธุกรรม

2. การแยกหน่อออกจากรากหรือตอ ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของไม้เพาโลว์ก็คือมีความสามารถแตกหน่อ (จากตอ) ภายหลังการตัดฟันสูง หน่อเหล่านี้อาจจะแยกออกไปเลี้ยงเป็นต้นกล้าเพื่อนำไปปลูกต่อไปได้ แต่ก็ไม่ค่อยนิยมกันมากนัก เพราะต้นกล้ามักจะมีอัตราการรอดตายต่ำ

3. การตัดรากปักชำ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ไม้เพาโลว์เนียที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด โดยการตัดรากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-2.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร จากต้นแม่ที่มีอายุตั้งแต่สองปีขึ้นไป ต้นละ 10-15 ราก นำไปปักชำเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 3-6 เดือนแล้วจึงนำต้นกล้าไปปลูก ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตัดรากปักชำมากที่สุดคือช่วงที่เพาโลวืเนียทิ้งใบ นั่นคือ หากตัดรากปักชำในเดือนมกราคมซึ่งเป็นหน้าหนาวก็จะได้ต้นกล้าซึ่งสามารถปลูกได้ในราวเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นต้นฤดูฝน หรือจะนำรากไปปลูกในแปลงปลูกโดยตรงเลยก็ได้หากปลูกแล้วสามารถให้น้ำและดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หากต้องการกล้าเป็นจำนวนมาก การผลิตโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็เหมาะสม แต่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าการตัดรากปักชำและต้องการต้นกล้ามากจริงๆ

การกำหนดระยะปลูกที่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไม้เพาโลว์เนีย โดยปกติหากปลูกเชิงเดี่ยว คือปลูกไม้เพาโลว์เนียชนิดเดียวล้วนๆ ก็มักจะนิยมใช้ระยะ 4x5 เมตร 5x5 เมตร หรือ 6x6 เมตร ซึ่งดูเหมือนจะค่อนข้างห่างเกินไปสำหรับความรู้สึกของคนไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าเพาโลว์เนียเป็นไม้โตเร็วและต้องการแสงสว่างเต็มที่ หากปลูกถี่ แสงสว่างส่องไม่ถึงพื้นดิน ต้นเพาโลว์เนียอาจจะได้รับความเสียหายจากโรคและแมลงได้ง่าย แต่ถ้าปลูกในระบบวนเกษตรก็ควรจะมีระยะปลูกตั้งแต่ 5x10 เมตรขึ้นไป โดยชนิดของพืชควบก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ความเคยชินของเกษตรกร และความต้องการของตลาด ที่นิยมกันมากคือพืชไร่ที่ลงมือปลูกเมื่อเพาโลว์เนียเริ่มทิ้งใบ และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเพาโลว์เนียเริ่มแตกใบใหม่เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และลินิน นอกจากนี้ สนหนาม ( Cunninghamia lanceolata ) และไผ่ก็สามารถปลูกร่วมกับไม้เพาโลว์เนียได้เป็นอย่างดี เพราะเพาโลว์เนียเป็นไม้ผลัดใบ มีเรือนรากลึก กิ่งกระจาย เรือนยอดไม่แน่นทึบ ในขณะที่ไผ่มีระบบรากตื้น

เมื่อต้นเพาโลว์เนียปลูกอายุได้ 1 ปีเต็ม จะต้องทำการตัดต้นเดิมที่ระดับดินออก เพื่อให้ระบบรากได้พัฒนาต่อไป ต้นใหม่เกิดจากการแตกหน่อ (coppice) นั่นคือ หากบอกว่าอายุรอบหมุนเวียนในการตัดฟันไม้เพาโลว์เนีย 9 ปี อายุที่แท้จริงคือ 10 ปี ปฏิบัติการทางวนวัฒนวิทยาที่จำเป็นมากสำหรับไม้เพาโลว์เนียก็คือการลิดกิ่ง โดยจะต้องทำการลิดกิ่งตั้งแต่กิ่งยังอ่อนๆ มิฉะนั้น ลำต้นจะมีความเรียวมาก ขาดความเปลา คือโคนใหญ่ปลายเล็ก อันเป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้การป้องกันไฟป่าก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าเกิดไฟไหม้สวนแม้จะเพียงลวกๆ ลำต้นก็ตาม เปลือกจะแห้งและตายไปในที่สุด หรือหากไม่ตายตามลำต้นก็จะมีกิ่งก้านแตกออกมามาก ทำให้สูญเสียรูปทรงที่ต้องการ

ส่วนปัญหาในเรื่องโรคและแมลงนั้น กาฝากเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในไม้เพาโลว์เนียที่ปลูกเป็นสวนป่า มีผลกระทบต่ออัตราการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของต้นไม้ หากปลูกไม้เพาโลว์เนียแน่นเกินไป แสงสว่างส่องลงสู่พื้นดินไม่ได้ ความชื้นสัมพัทธ์ในสวนป่าสูงเกินไป โรคที่จะเกิดคือแอนแทรคโนส ซึ่งทำอันตรายแก่ส่วนของใบเช่นเดียวกับโรค Sphaceloma paulowniae ที่มักจะเกิดกับไม้ในวัยหนุ่ม แต่ถ้าเป็นต้นกล้าโรคที่พบเป็นประจำคือโรคเน่าคอดิน ( mping-off

Paulownia fortunei ที่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและได้รับการดูแลรักษาดีพอสมควร เมื่ออายุ 10 ปีจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกประมาณ 40 เซนติเมตร สูง 12 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของเรือนยอด 9 เมตร และความสูงของลำต้นจนถึงกิ่งสดกิ่งแรก (clearbole) 4 เมตร ผลสำเร็จจากการปรับปรุงบำรุงพันธุ์ทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตของเนื้อไม้มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว ทั้งนี้ สถาบันวิจัยป่าไม้ของจีนได้แนะนำให้ปลูก Paulownia fortunei สายพันธุ์ C 001,C 020 และ SP 001

การใช้ประโยชน์ไม้เพาโลว์เนีย

เนื้อไม้ทุกชนิดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่การใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของไม้แต่ละชนิด เพาโลว์เนียเป็นไม้โตเร็ว ปกติไม้โตเร็วส่วนใหญ่เนื้อไม้จะมีการหดและบิดตัวสูง แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับไม้เพาโลว์เนีย เพราะมีค่าสัมประสิทธิ์การหดและบิดตัวทางปริมาตรเพียง 0.269-0.371 % และความชื้นในเนื้อไม้อยู่ระหว่าง 15-21% เท่านั้น ความเบาของเนื้อไม้ก็เป็นคุณสมบัติเด่นอีกประการหนึ่ง โดยเนื้อไม้เพาโลว์เนียมีค่าความหนาแน่นระหว่าง 0.21-0.33 g/cc ประกอบกับค่าการนำความร้อนที่มีเพียง 0.063-0.086 Kcal m -1 hr -10 C -1 ซึ่งเป็นค่าต่ำที่สุดสำหรับไม้ การนำอุณหภูมิมีค่าเท่ากับ 0.000561-0.000631 m -2 hr -1 ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำมาก ทำให้เพาโลว์เนียเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติด้านฉนวนไฟฟ้าหรือป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าได้อย่างดียิ่ง คุณสมบัติด้านการส่งเสียงสะท้อนมีค่าระหว่าง 14.06-20.84 m 4 kg -1 sec -1 ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ทำเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การที่ไม้เพาโลว์เนียมีการยืดหดตัวต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากไม้เพาโลว์เนียไม่ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของความชื้นที่ผันแปรไปตามฤดูกาลต่างๆ คุณสมบัติของเนื้อไม้ที่มีเสี้ยนตรง นุ่ม ทำให้ไสกบตบแต่งง่าย ผิวหน้าไม้เป็นเงางาม ผึ่งแห้งเร็ว โดยไม้แผ่นที่หนา 1 นิ้วผึ่งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 22 วัน ความชื้นจะลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น

จากคุณสมบัติของเนื้อไม้ดังกล่าว ทำให้สามารถนำไม้เพาโลว์เนียไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ทำเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย อันได้แก่ เปียโน กีตาร์ ไวโอลิน และขิม ซึ่งให้คลื่นเสียงที่ก้องกังวานอย่างสม่ำเสมอ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก เกี๊ยะไม้ กล่องโสม กล่องอัญมณี และเครื่องแกะสลัก งานฝีมือต่างๆ นอกจากนี้ ไม้เพาโลว์เนียยังใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้เช่นเดียวกับไม้โตเร็วอื่นๆ เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้เพาโลว์เนียอาจจะมีรอยด่างดำบ้าง ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการไม่ตัดโค่นต้นไม้ในฤดูกาลเจริญเติบโตและการแช่ไม้ไว้ในน้ำใสชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม้เพาโลว์เนียที่โตช้าเนื้อไม้จะละเอียดมาก เหมาะสำหรับใช้ทำถังไวน์ กล่องชา และทำลังเลี้ยงผึ้ง ยิ่งไปกว่านั้น เปลือก ใบ ดอก ผล และเนื้อไม้ ยังมีคุณค่าในเชิงสมุนไพรอีกด้วย โดยสามารถนำไปใช้ในการผลิตยาแก้ไอ หอบหืด ขับเสมหะ ลดความดันโลหิต ฯลฯ ผลและใบเมื่อนำมาแช่น้ำแล้วใช้น้ำนั้นสระผมทุกวันจะทำให้ผมดกดำ ใบและดอกมีโปรตีนสูง จึงเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ จำพวกหมู แกะ และกระต่าย รวมทั้งใช้ทำปุ๋ยคอกชั้นดี

จากคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์อย่าง “ ไม้เอนกประสงค์ ” ดังกล่าว ทำให้มีการปลูกไม้เพาโลว์เนียกันอย่างกว้างขวาง โดยในประเทศจีนมีเนื้อที่สวนป่าเพาโลว์เนียกว่าสิบล้านไร่ นอกจากนี้ยังได้นำไปปลูกในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ จนทำให้ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกามีการกระจายพันธุ์ของไม้เพาโลว์เนียจนดูเสมือนหนึ่งเป็นป่าธรรมชาติ รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งมีการตื่นตัวในเรื่องการปลูกไม้เพาโลว์เนียในหมู่ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2545 เป็นต้นมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศต่างๆ ที่ปลูกไม้เพาโลว์เนียนั้นส่วนใหญ่มีอากาศหนาวเย็น และขนาดของสวนป่าแต่ละรายก็ไม่กว้างขวางนัก เพราะเพาโลว์เนียต้องการการดูแลรักษาที่ประณีตดังกล่าวแล้ว

เส้นทางการปลูกไม้เพาโลว์เนียในประเทศไทย

หากกำหนดความยาวของรอบตัดฟันไม้เพาโลว์เนียไว้ที่อายุ 10 ปี การทดลองปลูกไม้เพาโลว์เนียไม่ใช่ของใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะในปี 2515 กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้นำเมล็ดไม้เพาโลว์เนียจากไต้หวันซึ่งเข้าใจว่าเป็น Paulownia taiwaniana มาทดลองปลูกที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าพระฉาย จังหวัดสระบุรี แต่ไม่ได้ผลเพราะดินมีการระบายน้ำไม่ดี มีน้ำท่วมขังไหลผ่าน ต่อมาในปี 2520 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ ก็ได้สั่งเมล็ดเพาโลว์เนียจากฝรั่งเศสมาปลูกภายใต้โครงการแม่สา ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน เพราะขาดประสบการณ์ในการผลิตกล้าจากเมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กมาก ในช่วงเวลาเดียวกัน คือในปี 2517 บริษัทเพาโลว์ เนีย ดีเวลลอปเม้นท์ ก็ได้นำไม้เพาโลว์เนียจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูกในรูปของสวนป่าเอกชนขนาดย่อมขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 330 เมตร เพื่อส่งไม้ไปขายยังประเทศญี่ปุ่น คาดว่าเป็น Paulownia fortunei และได้ทำการตัดฟันนำไม้ไปใช้ประโยชน์ในปี 2522 จากนั้นก็ได้เลิกกิจการไป เข้าใจว่าเป็นเพราะปัญหาเรื่องไฟป่า และ/หรือสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ขณะนี้ยังมีร่องรอยของต้นเพาโลว์เนียปะปนกับป่าธรรมชาติหลงเหลืออยู่บ้างในเส้นทางเข้าสถานีวิจัยแม่หลอด ของมูลนิธิโครงการหลวง

ต่อมาในเดือนเมษายน 2526 โครงการปลูกป่าบนที่สูง (งานป่าไม้) มูลนิธิโครงการหลวง ก็ได้นำราก Paulownia taiwaniana จากไต้หวันจำนวน 70 รากมาทดลองปลูกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ระยะปลูก 4x4 เมตร โดยการนำรากจากไต้หวันปลูกลงในดินโดยตรงเลยทีเดียว แต่มีการรดน้ำและดูแลรักษาเสมือนหนึ่งเป็นกล้าไม้ในเรือนเพาะชำ ทั้งนี้ได้ปลูกไว้ที่บริเวณหน้าสำนักงานฯ 60 ต้น และปลูกไว้ที่บริเวณแปลงเพาะป่าไม้ 10 ต้น ปรากฏว่ารากทั้งหมดเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นเพาโลว์เนีย โดยบริเวณหน้าสำนักงานฯ ได้มีการตัดฟันไปบ้าง แต่บริเวณแปลงเพาะป่าไม้ยังมีอยู่ครบทุกต้นดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ จากนั้นในปีถัดมา ก็ได้มีการขุดรากจากต้นแม่ทั้ง 70 ต้น นำไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ในเดือนมิถุนายน 2527 ทั้งในบริเวณแนวถนนติดกับบ้านพักริมดอยซึ่งเจริญเติบโตดีมาก และบริเวณเนินเขาหลังศูนย์ฝึกอบรมซึ่งเจริญเติบโตช้ามาก ทั้งๆ ที่สองจุดปลูกดังกล่าวห่างกันเพียง 200 เมตรเท่านั้น

เมื่อพบว่า Paulownia taiwaniana เป็นไม้โตเร็วที่น่าสนใจสำหรับพื้นที่สูงอย่างดอยอ่างขาง งานป่าไม้ มูลนิธิโครงการหลวง ก็ได้ศึกษาระบบวนเกษตรบนที่สูงโดยมีเพาโลว์เนียเป็นไม้ประธาน มีพืชกสิกรรมชนิดต่างๆ อาทิ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ลินิน ข้าวโพดหวาน ข้าวไร่ ขิง และกาแฟ รวมทั้งไผ่หวานอ่างขาง (ไผ่หมาจู๋: Dendrocalamus latiflorus ) เป็นพืชควบ ปรากฏว่าพืชไร่ที่ปลูกในช่วงปลายปีและเก็บเกี่ยวตอนต้นปี อันเป็นช่วงเวลาที่เพาโลว์เนียทิ้งใบ เช่น ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี รวมทั้งกาแฟซึ่งต้องการร่มเงาจากไม้ใหญ่เป็นไม้พี่เลี้ยง สามารถปลูกเป็นพืชควบในแปลงเพาโลว์เนียตามหลักระบบวนเกษตรได้ดีมาก โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ในทางลบทั้งสิ้น ส่วนไผ่หวานอ่างขางและเพาโลว์เนียก็ผสมผสานกันได้อย่างดี แต่ควรปลูกให้มีระยะห่างประมาณ 6x6 เมตรเป็นอย่างน้อย แล้วปลูกไผ่ตรงจุดตัดกันของเส้น ทะแยงมุมของไม้เพาโลว์เนียนรูปของสี่เหลี่ยม จตุรัสซ้อน ทั้งนี้เพราะเพาโลว์เนียเป็นไม้โตเร็วที่มีรากลึก และทิ้งใบนานประมาณ 4-5 เดือน ในขณะที่ไผ่มีเรือนรากตื้น

จากผลสำเร็จดังกล่าว มูลนิธิโครงการหลวง ได้เสนอแนะผ่านเวทีประชุมสัมมนาให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนะนำและสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีในพื้นที่สูงทางภาคเหนือปลูกไม้เพาโลว์ เนียแทรกเข้าไปในปริมาณ 25-40 ต้นต่อไร่ เพราะนอกจากเกษตรกรจะได้รายได้จากข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีแล้ว ยังได้รายได้จากไม้เพาโลว์เนียซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งเงินฝากประจำ รวมทั้งร่มเงาของไม้เพาโลว์เนียซึ่งแน่นทึบในหน้าฝนยังช่วยป้องกันการพังทลายของดินบนที่สูงได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

การที่กล่าวในตอนต้นว่าไม้ Paulownia taiwaniana ซึ่งปลูกที่ดอยอ่างขางเมื่อปี 2526 และ 2527 มีทั้งที่โตเร็วมากและโตช้ามาก ทั้งๆ ที่แปลงปลูกห่างกันเพียง 200 เมตรเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถามว่ามีการปลูกไม้เพาโลว์เนียในเมืองไทยหรือไม่ ขอดูแปลงปลูกได้ที่ไหน ก็ต้องตอบได้ว่ามีมาตั้ง 20-30 ปีแล้ว บริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ น่าจะเป็นแปลงตัวอย่างให้ดูได้ดีที่สุด เพราะมีทั้งที่ประสบความสำเร็จคือโตเร็วสมดังที่กล่าวขานกัน และล้มเหลวคือโตช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ข้อมูลในรูปของเส้นรอบวงที่ระดับอกซึ่งวัดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ปรากฏว่าไม้เพาโลว์เนียซึ่งปลูกในเดือนเมษายน 2526 ที่บริเวณแปลงเพาะป่าไม้ ต้นที่โตที่สุดวัดได้ 236 เซนติเมตร ในขณะที่ต้นเล็กที่สุดมีเส้นรอบวงเพียงอกเพียง 72 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ปลูกในเดือนมิถุนายน 2527 บริเวณข้างบ้านริมดอยต้นโตที่สุดมีเส้นรอบวงถึง 231 เซนติเมตร ซึ่งโตกว่าบริเวณที่ลาดชันหลังศูนย์ฝึกอบรมกว่าสองเท่า

กล่าวโดยสรุป ไม้ Paulownia taiwaniana อายุ 19 ปี ที่ดอยอ่างขาง หากปลูกบนที่ราบจะเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีความเพิ่มพูนรายปีในรูปของเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกถึง 2.43 เซนติเมตร แต่ถ้าปลูกบนเนินเขาซึ่งดินตื้นและลมแรงจะมีความเพิ่มพูนรายปีเพียง 1.58 เซนติเมตร เท่านั้น

ประสบการณ์จากดอยอ่างขางชี้ให้เห็นว่า ไม้เพาโลว์เนียมีความผันแปรทางพันธุกรรมและมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมสูงมาก โดยสามารถยืนยันได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้

การปลูกบนที่ราบ ดินลึก อายุ 19-20 ปี บริเวณแปลงเพาะมีเส้นรอบวง 72-236 เซนติเมตร เฉลี่ย 129 เซนติเมตร ข้างบ้านริมดอยมีเส้นรอบวง 127-231 เซนติเมตร เฉลี่ย 164 เซนติเมตร หน้าศูนย์ฝึกอบรมมีเส้นรอบวง 113-200 เซนติเมตร เฉลี่ย 147 เซนติเมตร แต่ถ้าปลูกบนเนินเขา ดินตื้น อายุเท่ากันมีเส้นรอบวงเฉลี่ยเพียง 60 เซนติเมตรเท่านั้น

หรือถ้าจะกล่าวในรูปของความเพิ่มพูนรายปี โดยยึดหลักสากลที่ว่าไม้โตเร็วจะต้องมีความเพิ่มพูนรายปีในรูปของเส้นผ่าศูนย์ที่ระดับอกต้องไม่น้อยกว่า 2.12 เซนติเมตรต่อปี ก็ปรากฏว่า:

บนที่ราบ ต้นเล็กที่สุดโต 1.15 เซนติเมตร/ ปี ต้นใหญ่ที่สุดโต 3.75 เซนติเมตร/ปี อันแสดงให้เห็นถึงความผันแปรทางพันธุกรรม

ส่วนด้านความอ่อนไหวต่อความลึกของดิน ก็พบว่า บนที่ราบ ดินลึกโต 2.46 เซนติเมตร บนเนินเขา ดินตื้น โต 1.00 เซนติเมตร/ปี หากค่าความเพิ่มพูนดังกล่าวต่ำกว่า 2.12 เซนติเมตร/ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นไม้โตเร็วดังกล่าวแล้ว

คำถามที่ว่า “เพาโลว์เนีย:ไม้เศรษฐกิจปลูกแล้วรวยจริงหรือ?” จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ปลูกที่ไหน? ใครรวย? เกษตรกรผู้ปลูก พ่อค้าคนกลาง หรือคนขายกล้า เพราะจากกระแสข่าวในเกือบรอบปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้ปลูกไม้เพาโลว์เนียกันมากจนเกือบจะผิดปกติ ประชาชนให้ความสนใจที่จะปลูกกันมากเป็นพิเศษ ด้วยคาดหวังว่าไม้เพาโลว์เนียจะทำให้เขาได้เป็นเศรษฐีในระยะเวลาอันสั้น แต่ความเป็นเศรษฐีของเขาจะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่จะปลูกเป็นสำคัญ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเงินทุนซึ่งเขาพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของไม้เพาโลว์เนีย

สรุป

เพาโลว์เนียเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศจีน โตเร็ว มีน้ำหนักเบา จัดเป็นไม้เอนกประสงค์เพราะแทบทุกส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ปลูกกันแพร่หลายในประเทศจีน สำหรับในประเทศไทย มูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้ว ในจำนวนไม้เพาโลว์>เนีย 9 ชนิดนั้น ที่คาดว่าน่าจะปลูกในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยได้มีเพียง Paulownia taiwaniana และ Paulownia fortunei เท่านั้น แต่ผู้ที่เล็งผลเลิศ คาดหวังผลกำไรสูงจากการปลูกไม้เพาโลว์เนียจะต้องระลึกไว้เสมอว่า เพาโลว์เนียเป็นไม้ที่อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก หาก ทำเลที่ตั้ง ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ไม้เพาโลว์เนียจะเจริญเติบโตเร็วมาก แต่ในทางตรงกันข้าม อัตราการเจริญเติบโตจะช้ามากหรืออาจจะตายไปในที่สุดก็ได้ ดังนั้น หากคิดจะปลูกไม้เพาโลว์เนียก็ต้องหาความมั่นใจด้านการตลาดและเลือกพื้นที่ปลูกให้ถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วเกษตรกรผู้ปลูกป่าอาจจะตกเป็นเหยื่อของไม้เพาโลว์เนียเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับไม้ป่าบางชนิดในอดีตก็ได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงแต่ต้องการจะสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกป่าว่าสามารถทำมาหากินโดยการ ปลูกป่าเป็นอาชีพ ได้จริงๆ ไม่ใช่เข็ดจริงๆ กับการปลูกป่าเศรษฐกิจ

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์.2542.ไม้เพาโลว์เนีย.เอกสารประกอบการบรรยาย ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง วันที่ 8 มกราคม 2542.

                   ประนอม ผาสุข.2537.ไม้เพาโลว์เนียไต้หวันเนียนา.ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                   ประนอม ผาสุข.2538.เพาโลว์เนียไต้หวันเนียนา ไม้โตเร็วที่น่าจับตามอง. ใน : ร้อยบทความป่าไม้ 2538 (ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์
                                     มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) หน้า 311-313.

                   Thaiutsa, B.2001.Highland Reforestation in Northern Thailand : A Case of the Royal Project Foundation.
                                     In : TFRI Extension Series No. 145, Taipei, pp. 6-13.

                   Zhu, Z.H.,C.J. Chao,X.Y. Lu,and Y.G. Xiong. 1988. Paulownia in China : Cultivation and Utilization.Chinese Academy of
                                     Forestry, Asian Network for Biological Sciences and International Development Research Centre, Singapore.

จากเอกสารประกอบการบรรยายในการประชุมสัมมนาเรื่อง ไม้เศรษฐกิจ ยมหอม ยูคา เพาโลว์เนีย ปลูกแล้วรวยจริงหรือ?” จัดโดย ชมรมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 14 มิถุนายน 2546

 

 

 

 

ขอสงวนสิทธิ์ รูปภาพในเวปเพจทั้งหมด
ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์ 0-2579-0171 , 0-2942-8112
Webmaster @ Department of Silviculture